ที่มา
กรมส่งเสริมสหกรณ์เริ่มจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 โดยเจตนารมณ์ในการจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ครั้งแรกเพื่อใช้วัดประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์มีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ที่ชัดเจน และเป็นการประเมินผลการบริหารจัดการของสหกรณ์เบื้องต้น โดยไม่ได้มีเจตนาที่ใช้วัดความเป็นมาตรฐานของสหกรณ์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2556 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ใช้การจัดมาตรฐานเพื่อวัดประสิทธิภาพการส่งเสริมสหกรณ์ของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ และใช้วัดผลการดำเนินงานของสหกรณ์ควบคู่กัน
วัตถุประสงค์ของการจัดระดับมาตราฐานสหกรณ์
1. เพื่อประเมินศักยภาพในการดำเนินงานของสหกรณ์แต่ละแห่งว่ามีจุดอ่อนจุดแข็ง อย่างไร มีศักยภาพที่จะอำนวยบริการประโยชน์แก่สมาชิก ซึ่งเป็นเจ้าของสหกรณ์ได้ดี เพียงใด มีความสามารถในการบริหารจัดการมากน้อยเพียงใด
2. เพื่อจัดระดับสหกรณ์แต่ละประเภทตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ประโยชน์ของการจัดระดับมาตราฐานสหกรณ์
1. สหกรณ์ได้ทราบถึงสถานะและผลการดำเนินงานของตนในภาพรวมเบื้องต้น เนื่องจากตัวชี้วัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ เป็นเกณฑ์เบื้องต้นทั่วไปที่สหกรณ์สามารถดำเนินงานให้ผ่านได้ โดยยึดหลักการและวิธีการสหกรณ์ ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. สหกรณ์สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินงาน หรือแนวทางการพัฒนาให้ผ่านมาตรฐานในแต่ละระดับได้ เช่น หากสหกรณ์ตกมาตรฐานข้อใด ก็ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุและแก้ไขปรับปรุง ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานข้อนั้น ๆ หากสหกรณ์ผ่านมาตรฐานในระดับดี ก็ควรพิจารณาหาแนวทางที่จะยกระดับการผ่านมาตรฐานสหกรณ์ให้เป็นระดับดีมากหรือดีเลิศ
3. สหกรณ์ได้รับสิทธิบางประการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนด เช่น การพิจารณาขอกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ การพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นต้น

สหกรณ์ที่นำมาประเมินและจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์ทุกประเภท ยกเว้น สหกรณ์ที่อยู่ในเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
1.สหกรณ์ที่ตั้งใหม่ ยังไม่ได้ดำเนินการ หรือ ดำเนินการแต่จัดตั้งไม่ครบ 2 ปี
2.สหกรณ์ที่หยุดดำเนินธุรกิจ หรือ ไม่ดำเนินธุรกิจ หรือ สหกรณ์อยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะปรับปรุงกิจการ หรือหยุดเพื่อเตรียมขอเลิกสหกรณ์ในปีถัดไป
3.สหกรณ์ที่เลิกหรืออยู่ระหว่างชำระบัญชี

การประเมินมาตรฐานสหกรณ์
การประเมินมาตรฐานสหกรณ์ เป็นการประเมินผลการดำเนินงานของสหกรณ์ (ร้อยละ 70 ) และกระบวนการจัดการภายในสหกรณ์ (ร้อยละ 30) โดยมีเกณฑ์ในการประเมิน 7 เกณฑ์ แต่ละเกณฑ์จะมีข้อย่อยในการประเมิน รวม 137 ข้อ ดังนี้
เกณฑ์ที่ 1 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์มีผลการดำเนินงานไม่ขาดทุน เว้นแต่ปีใดมีอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติจนเกิดความเสียหายต่อสมาชิกและสหกรณ์โดยรวม ให้ตัดปีนั้นออก (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 1 - ข้อ 3 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 4 - ข้อ 8)
เกณฑ์ที่ 2 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลังไม่มีการกระทำอันถือได้ว่าทุจริตต่อสหกรณ์ (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 9 - ข้อ 10 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 11 - ข้อ 86)
เกณฑ์ที่ 3 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์จัดทำงบการเงินแล้วเสร็จและส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 87 - ข้อ 90 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 91 - ข้อ 95)
เกณฑ์ที่ 4 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกทั้งหมด ร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์ (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 96 - ข้อ 103 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 104 - ข้อ 108)
เกณฑ์ที่ 5 ต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่สหกรณ์ปฏิบัติงานประจำรับผิดชอบดำเนินการและธุรกิจของสหกรณ์ หากไม่มีการจัดจ้างต้องมีบุคคลอื่น เช่น กรรมการ สมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำ (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 109 - ข้อ 112 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 113 - ข้อ 117)
เกณฑ์ที่ 6 ผลการดำเนินงานในรอบสอบปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์ต้องมีการจัดสรรกำไรสุทธิ และจ่ายเงินทุนสวัสดิการสมาชิก หรือทุนสาธารณะประโยชน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง (ประเมินผลการดำเนินงานใน ข้อ 118 - ข้อ 124 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 125 - ข้อ 131)
เกณฑ์ที่ 7 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องไม่กระทำการอันใดเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 132 - ข้อ 133 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 134 - ข้อ 137)
การกำหนดระดับมาตรฐานสหกรณ์ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
1.ระดับมาตรฐานดีเลิศ (A) ผลการประเมินตั้งแต่ 96 คะแนน ขึ้นไป
2.ระดับมาตรฐานดีมาก (B) ผลการประเมินตั้งแต่ 86-95.99 คะแนน
3.ระดับมาตรฐานดี (C) ผลการประเมินตั้งแต่ 76-85.99 คะแนน
4.ระดับไม่ผ่านมาตรฐาน (F) ผลการประเมินต่ำกว่า 76 คะแนน

ความหมาย
สหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล หมายถึง สหกรณ์ที่มีการดำเนินงานอย่างมีระบบ มีการควบคุมภายในที่ดี ดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ บริหารจัดการด้วยการนำหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติถือใช้อย่างเคร่งครัด และมีการดำเนินงาน โดยยึดหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการของสหกรณ์อย่างแท้จริง
วิธีการประเมิน
การประเมินสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล มีเกณฑ์พิจารณาตามหลักธรรมาภิบาล 9 หลัก (หลักประสิทธิผล หลักประสิทธิภาพ หลักการตอบสนอง หลักภาระรับผิดชอบ หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักการมอบอำนาจ หลักนิติธรรม และหลักความเสมอภาค) รวม 37 ข้อย่อย แต่ละข้อมีระดับการพิจารณา 5 ระดับ รวมคะแนนเป็น 100 คะแนน และพิจารณาเพิ่มเติม คือหากสหกรณ์ใดมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จะตัดคะแนน ดังนี้
1. ทุจริต ตัด 30 คะแนน
2. ข้อบกพร่องทางการบัญชี ตัด 10 คะแนน
3. การกระทำนอกกรอบวัตถุประสงค์ ตัด 10 คะแนน
4. พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ตัด 10 คะแนน)
การประกาศผลสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล
สหกรณ์ที่จะได้รับการประกาศเป็นสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล คือ สหกรณ์ที่มีคะแนนในแต่ละหลัก ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 และมีคะแนนรวมกันทุกหลัก (หลังจากพิจารณาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์แล้ว) ร้อยละ 85 ขึ้นไป

คุณสมบัติของสหกรณ์ที่จะสมัครเข้ารับการคัดเลือกสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ
1. มีผลการดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. ต้องมีข้อมูลย้อนหลัง (งบการเงิน) เพื่อการตรวจสอบไม่น้อยกว่า 3 ปี
3. ถ้าเป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ที่เคยได้รับพระราชทานโล่รางวัลดีเด่นแห่งชาติมาแล้ว จะต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากปีที่ได้รับรางวัล จึงมีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกได้ เช่น ได้รับพระราชทานโล่รางวัลดีเด่นแห่งชาติปี 2557 ต้องปี 2563 จึงส่งเข้ามาร่วมคัดเลือกใหม่ได้
4. ต้องเป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านระดับได้มาตรฐานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในปีล่าสุดก่อนเข้ารับการคัดเลือก
5. ในปีล่าสุดก่อนเข้ารับการคัดเลือกสหกรณ์ต้องไม่มีข้อบกพร่อง และไม่มีข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี

วิธีคัดเลือก
1. การให้คะแนนการคัดเลือกสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ กำหนดคะแนนเต็มไว้ 1,000 คะแนน แบ่งออกเป็น 5 หมวดดังนี้
(1) ความคิดริเริ่ม 100 คะแนน
(2) ความสามารถในการบริหารและการจัดการสหกรณ์ 350 คะแนน
(3) บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสหกรณ์ 250 คะแนน
(4) ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสหกรณ์ 150 คะแนน
(5) การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 150 คะแนน
2. การประเมินสหกรณ์ที่เข้ารับการคัดเลือก จะใช้วิธีการให้คะแนนเพื่อจัดลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อย โดยคัดเลือกสหกรณ์แต่ละประเภทที่ได้คะแนนรวมมากที่สุด ซึ่งสหกรณ์จะต้องได้คะแนนในแต่ละหมวดตามข้อ 1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และมีคะแนนรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
วิธีการพิจารณาให้คะแนน
ประเมินข้อมูลสหกรณ์ที่เข้ารับการคัดเลือกจากแบบกรอกข้อมูลและเอกสารประกอบ โดยพิจารณาให้คะแนนแต่ละข้อในหมวดการคัดเลือก ทั้ง 5 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 ความติดริเริ่ม 100 คะแนน
การนำเสนอโครงการ/กิจกรรม ในหมวดที่ 1 ความคิดริเริ่ม ต้องนำเสนอให้ครบ 3 โครงการ/กิจกรรม และเป็นโครงการ/กิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ในรอบ 3 ปี บัญชีย้อนหลัง และดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากโครงการแล้ว
การพิจารณาการให้คะแนน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ลักษณะโครงการ/กิจกรรม คะแนนเต็ม 25 คะแนน
ส่วนที่ 2 คุณภาพของโครงการ/กิจกรรม คะแนนเต็ม 75 คะแนน
หมวดที่ 2 ความสามารถในการบริหารและการจัดการของสหกรณ์ 350 คะแนน
2.1 ความสามารถในการบริหารงาน คะแนนเต็ม 160 คะแนน
2.2 ความสามารถในการจัดการสหกรณ์ คะแนนเต็ม 140 คะแนน
2.3 การควบคุมภายใน คะแนนเต็ม 50 คะแนน
หมวดที่ 3 บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสหกรณ์ 250 คะแนน
3.1 ความรู้ความเข้าใจในสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของสมาชิก และคณะกรรมการดำเนินการ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
3.2 การมีส่วนร่วมของสมาชิกในธุรกิจหรือกิจกรรมของสหกรณ์ คะแนนเต็ม 150 คะแนน
หมวดที่ 4 ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสหกรณ์ 150 คะแนน
4.1 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนทุนสำรองต่อสินทรัพย์ (เท่า) 20 คะแนน
4.2 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตทุนของสหกรณ์ (%) 20 คะแนน
4.3 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของทุน (%) 20 คะแนน
4.4 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (%) 20 คะแนน
4.5 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนทุนหมุนเวียน (เท่า) 20 คะแนน
4.6 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราลูกหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด (%) 20 คะแนน
4.7 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (เท่า) 15 คะแนน
4.8 ค่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตของหนี้ (%) 15 คะแนน
หมวดที่ 5 การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 150 คะแนน
5.1 การทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ คะแนนเต็ม 115 คะแนน แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม คือ
5.1.1 กิจกรรมสาธารณประโยชน์ (ให้แก่บุคคลภายในสหกรณ์) ในด้านการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสหกรณ์/ครอบครัวสมาชิก กรรมการสหกรณ์ และพนักงานสหกรณ์ คะแนนเต็มจำนวน 75 คะแนน
5.1.2 กิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ เพื่อสังคมและชุมชน (ให้แก่บุคคล/ชุมชนภายนอก) คะแนนเต็มจำนวน 40 คะแนน
5.2 กิจกรรมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คะแนนเต็มจำนวน 35 คะแนน

ให้ติดต่อหน่วยงานในพื้นที่ที่ต้องการจะขอจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ (สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 หรือ พื้นที่ 2)

ภายใต้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สหกรณ์สามารถซื้อหุ้นของธนาคารได้ ดังนี้
1) มาตรา 62 (3) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ : ดังนั้น สหกรณ์สามารถซื้อหุ้นของธนาคารของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจได้ทุกธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
2) มาตรา 62 (4) ซื้อหุ้นของธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ : การซื้อหุ้นของธนาคารพาณิชย์ จะต้องพิจารณากฎหมายจัดตั้งธนาคาร หรือหนังสือบริคณห์สนธิว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจกับบุคคลธรรมาดาหรือนิติบุคคลทั่วไป ไม่มีข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นใดกับสหกรณ์ ดังนั้น หากเป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้นสหกรณ์จึงสามารถซื้อหุ้นของธนาคารพาณิชย์ได้ ตามมาตรา 62 (4)
3) มาตรา 62 (6) ซื้อหุ้นของสถาบันที่ประกอบธุรกิจอันทำให้เกิดความสะดวกหรือส่งเสริมความเจริญแก่กิจการของสหกรณ์โดยได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ : หากธนาคารดังกล่าวไม่เข้าข่ายตามมาตรา 62 (3) และ (4) ให้ขอความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

บุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสหกรณ์แท็กซี่ จะเช่าหรือใช้รถแท็กซี่ของสหกรณ์ใด จะต้องมี
1.ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะซึ่งยังไม่สิ้นอายุ หรือใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมาย ว่าด้วยการขนส่งทางบกที่ใช้แทนกันได้ ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
2.บัตรประจำตัวคนขับ
3.บัตรอนุญาตให้ขับรถแท็กซี่ของสหกรณ์นั้น

สหกรณ์จะต้องดำเนินการหรือแจ้งสมาชิกดำเนินการลบชื่อสหกรณ์ ตราสัญลักษณ์ของสหกรณ์รวมทั้งถอดและลบเครื่องหมายต่าง ๆ ของรถแท็กซี่ออกจากรถทันที พร้อมทั้งส่งคืนแผ่นป้ายทะเบียนรถและนำคู่มือจดทะเบียนรถมาแสดงต่อนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก เพื่อบันทึกหลักฐานการระงับทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงประเภทรถภายใน 30 วันนับแต่วันที่รถนั้นหมดอายุการใช้งาน

การพัฒนาแอพพลิเคชั่นรองรับการเรียกใช้บริการจากผู้โดยสาร ได้มีการดำเนินการโดยภาครัฐแล้ว (แอพพลิเคชั่น TAXI OK ของกรมขนส่งทางบก) หากสหกรณ์แท็กซี่เห็นว่ายังมีประเด็นข้อบกพร่องที่ต้องการแก้ไข ปรับปรุง สามารถเสนอความคิดเห็นต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน

เนื่องจากสหกรณ์มิได้เป็นหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐ ที่มีอำนาจทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย หรือได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายอื่นที่เป็นข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นคำขอจัดสรรที่ดินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ดังนั้น หากสหกรณ์ต้องการแบ่งแยกที่ดินจะต้องดำเนินการยื่นขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดินของแต่ละจังหวัด เพื่อพิจารณาอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน จึงจะสามารถจำหน่าย/แบ่งแยกที่ดินได้

การอบรมให้ความรู้ด้านการจัดทำบัญชีให้แก่สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง มีหน่วยงานที่เป็นแกนหลัก 3 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ (สนับสนุนวิทยากรให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสหกรณ์) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (ให้ความรู้เรื่องการบัญชีของสหกรณ์) และ พอช. (ส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง มีระบบบริหารจัดการที่ดีในด้านระบบบัญชีและการเงิน) แบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร รายละเอียด ดังนี้
1. ขั้นพื้นฐาน (กลุ่มที่จดทะเบียนเป็นสหกรณ์แล้ว/สหกรณ์ที่จัดตั้งใหม่ หรือกลุ่มที่ก่อนจัดตั้งเป็นสหกรณ์หาผู้รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีมาอบรมตั้งแต่ต้นก่อนการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์)
2. ขั้นกลาง (สหกรณ์ที่จัดทำเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีได้หรือจัดทำบัญชีขั้นต้นได้ หรือใกล้วงรอบการปิดบัญชีประจำปี)
3. ขั้นสูง (สหกรณ์ที่จัดทำบัญชีขั้นปลายได้หรือจัดทำงบทดลองได้)

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ก่อตั้งขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2541 เป็นขบวนการคนจนในเมืองที่ขับเคลื่อนในประเด็นสิทธิที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสลัม มีสหกรณ์สมาชิกเครือข่ายจำนวน 19 แห่ง ใน 2 พื้นที่และ 3 จังหวัด ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2563)
สหกรณ์สมาชิกเครือข่าย < คลิ๊กเพื่อเปิด

การจัดตั้งสหกรณ์และการดำเนินกกิจการร่วมกันตามประเภทของสหกรณ์ร้าค้าตามความมาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการจัดหาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคและรวบรวมผลิตผลผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายแก่สมาชิก
สำหรับการรับฝากเงินจากสมาชิกและสหกรณ์อื่นนั้น ไม่ถือเป็นกิจการร่วมกันของสหกรณ์ประเภทร้านค้า กรณีข้อบังคับของสหกรณ์บางแห่งที่กำหนดให้มีการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกนั้น เป็นเพียงการส่งเสริมการออมของสมาชิกโดยการถือหุ้นในสหกรณ์เท่านั้น

ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ คือ จุดจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพเพื่อการบริโภคจากขบวนการสหกรณ์สู่สมาชิกและผู้บริโภค โดยเป็นสินค้าจากสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือเกษตรกรสมาชิก การคัดเลือกสินค้าที่นำมาจำหน่ายควรมีลักษณะ สด สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
